หลักการและเหตุผล
เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายในการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือที่รู้จักกันดีในนามโครงการ ๓๐ บาทรักษาทุกโรค มาตั้งแต่พ.ศ.๒๕๔๕ ซึ่งเป็นโครงการที่มุ่งหมายให้ประชาชนสวนใหญ่มีหลักประกันสุขภาพ แต่ระบบบริหารจัดการในด้านการเงิน และกำลังคนมีข้อจำกัดมากมาย ก่อให้เกิดความสับสนในระบบบริการสุขภาพโดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบบริการภาครัฐ มีปัญหาเรื่องการเงินและบุคลากร ทำให้โรงพยาบาลหลายแห่งประสบภาวะขาดสภาพคล่องในการบริหารการเงิน งบประมาณ วัสดุอุปกรณ์ ครุภัณฑ์ทางการแพทย์ ขาดเงินในการพัฒนางาน ทำให้เกิดผลกระทบต่อผู้ปฏิบัติงานในภาครัฐ เนื่องจากประชาชนมาใช้บริการมากขึ้น ก่อให้เกิดปัญหาภาระงานมากเกินความสามารถของบุคลากร ทำให้มีปัญหาการลาออกจากราชการมากยิ่งขึ้น และมีผลกระทบกลับไปยังผู้ที่ปฏิบัติงานอยู่ ซึ่งต้องรับภาระงานเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งแพทย์เป็นผู้รับผลกระทบโดยตรงมากที่สุด ซึ่งจะส่งผลกระทบให้มีการลาออกเพิ่มขึ้นและผลสรุปจากการสัมมนาเมื่อวันที่ ๑๕ สิงหาคม ๒๕๔๖ ปัจจัยที่สำคัญที่สุดที่เป็นสาเหตุให้แพทย์ลาออกคือค่าตอบแทนต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับความรับผิดชอบ แต่กลับไม่ได้รับการพิจารณาแก้ไขให้เหมาะสมกับภาระงานและความรับผิดชอบ เงินเดือนเริ่มต้นของข้าราชการแพทย์ได้เท่ากับข้าราชการพลเรือนอื่นทั่วไป โดยที่แพทย์มีภาระรับผิดชอบสูงต่อชีวิตความเป็นความตายและสุขภาพของประชาชน งานของแพทย์เป็นงานที่ต่อเนื่องไม่ได้ทำเฉพาะ ๘ ชั่วโมงเหมือนข้าราชการพลเรือนอื่น ๆ เพราะการปฏิบัติการรักษาผู้ป่วย เช่น การผ่าตัด การช่วยกู้ชีวิต หรือหัตถการบางอย่างแม้แต่การตรวจรักษาผู้ป่วยหนักและฉุกเฉินก็ไม่สามารถรอคอยเวลาได้ แพทย์ต้องพร้อมที่จะทำงานเหล่านี้ไม่ว่าจะเป็นเวลาพักรับประทานอาหารกลางวันหรือนอกเวลาราชการ ฉะนั้นจึงเกิดปัญหาวิกฤตในวงการแพทย์ภาครัฐที่สำคัญหลายอย่าง ซึ่งจะมีผลกระทบโดยตรงต่อคุณภาพการบริการประชาชน เพราะขาดบุคลากร ขาดงบประมาณในการจัดหายาและเวชภัณฑ์ที่ทันสมัยและเหมาะสมที่สุดในการให้บริการรักษาพยาบาลแก่ประชาชน รวมทั้งมีผลต่อคุณภาพมาตรฐานและวิชาการของวงการแพทย์ไทย
แพทยสภาซึ่งเป็นองค์กรวิชาชีพ ได้ตระหนักถึงปัญหาเหล่านี้ และเห็นว่าควรมีการแก้ไขโดยระดมความคิดจากบุคลากรหลายฝ่ายที่รับผิดชอบ เพื่อหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาวิกฤตในวงการแพทย์ภาครัฐ เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการทางการแพทย์ที่ดี มีมาตรฐาน ปลอดภัย ทันสมัย เท่าเทียมกับบริการสาธารณสุขในโรงพยาบาลเอกชนชั้นนำ และบริการเหมือนในนานาอารยประเทศ เพื่อให้แพทย์ได้ทำงานโดยใช้วิชาชีพเป็นหลักในการให้บริการ มีเวลาทำงานที่ไม่หนักเกินกำลัง และได้ค่าตอบแทนที่เหมาะสม เพื่อเพิ่มจำนวนแพทย์ให้ยังมีกำลังใจที่จะทำงานให้บริการประชาชนในภาครัฐ โดยไม่ต้องออกไปออกไปทำงานภาคเอกชนนอกเวลา หรือลาออกไปอยู่เอกชน ซึ่งจะทำให้แพทย์ได้มีเวลาศึกษา ค้นคว้า วิจัย และพัฒนาความรู้ในวงการแพทย์ให้อยู่ในระดับที่ดียิ่ง ๆ ขึ้น เพื่อคงระดับมาตรฐานสากลได้ตลอดไป
เป้าหมาย
๑. เสนอปัญหาและความสำคัญของปัญหาการขาดแคลนแพทย์ในภาครัฐแก่รัฐบาล กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาและหาแนวทางแก้ไขอย่างเร่งด่วน เพื่อพัฒนางานบริการประชาชนให้ดีขึ้น ๒. ระดมความคิดเห็นในทุกแง่มุม เพื่อให้ได้แนวทางแก้ไขปัญหาแพทย์ลาออกจากภาครัฐ และทำให้แพทย์สามารถทำงานในระบบราชการอย่างมีประสิทธิภาพและมีความสุข อันจะนำประโยชน์สุขมาสู่ประชาชนแบบยั่งยืน ๓. ระดมความคิดเห็นให้ได้บัญชีเงินเดือน ค่าตอบแทนแพทย์ที่เหมาะสมและสามารถป้องกันสมองไหลของแพทย์จากภาครัฐสู่ภาคเอกชน ๔. เพื่อให้แพทย์ตระหนักถึงความร่วมมือในทุกระดับ เพื่อร่วมกันแก้ปัญหาดังกล่าวและสร้างวัฒนธรรมใหม่ในองค์กร
๕. ให้แพทย์ทราบถึงนโยบายของรัฐและแนวทางแก้ปัญหาเพื่อสร้างแรงจูงใจแก่แพทย์ที่ปฏิบัติงานและดึงดูดให้แพทย์ใหม่เข้าสู่หน่วยงานของรัฐเพิ่มมากขึ้น
การดำเนินการ
จัดสัมมนาเรื่อง ฝ่าวิกฤตแพทย์ภาครัฐเพื่อบรรลุหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประชาชน
โครงการจัดสัมมนาข้างต้นเป็นการจัดสัมมนาครั้งที่สองของคณะกรรมการแพทยสภาชุดปัจจุบัน ( วาระ พ.ศ.๒๕๔๖ – พ.ศ.๒๕๔๘ ) ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับปัญหาแพทย์ลาออก ซึ่งครั้งแรกที่นพ.บุญจง ชูชัยแสงรัตน์ กรรมการแพทยสภาและกรรมการบริหารชพพ.ได้เป็นผู้เสนอโครงการและได้จัดไปเมื่อเดือนสิงหาคม ๒๕๔๖ นั้นได้ข้อสรุปชัดเจนถึงสาเหตุการลาออกของแพทย์ว่าเกี่ยวข้องกับเรื่องค่าตอบแทนเป็นประเด็นหลัก ครั้งนี้พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา กรรมการแพทยสภาและกรรมการบริหารชพพ. ได้เป็นผู้นำเสนอโครงการเพื่อตอกย้ำให้เห็นว่าปัญหาแพทย์ลาออกนั้นวิกฤต ผลกระทบจะกลับคืนสู่ประชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้หากไม่ได้รับการแก้ไขอย่างฉับพลัน จริงจังและต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม หลังจากการจัดสัมมนาในครั้งแรกนั้น ผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่ายได้พยายามที่จะผลักดันให้มีการเพิ่มค่าตอบแทนแพทย์ และจากการกระตุ้นของคณะทำงานชมรมแพทย์เพื่อวิชาชีพแพทย์ ทำให้กระทรวงสาธารณสุขได้ปรับเปลี่ยนตัวเลขค่าตอบแทนของบุคคลกรด้านสาธารณสุขที่เตรียมนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรีให้สูงขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับตัวเลขที่นำเสนอโดยแพทยสภา ( ตามที่นำเสนอไปแล้ว ) และได้นำเสนอต่อฯพณฯนายกรัฐมนตรี ไปพร้อม ๆ กันเมื่อต้นเดือนพฤษภาคม ๒๕๔๗
การปรับขึ้นค่าตอบแทนของบุคลากรในด้านสาธารสุขสรุปได้ดังนี้
phase / วิชาชีพ |
แพทย์ – ทันตแพทย์ |
เภสัชกร |
พยาบาล |
โรคศิลปะสาขาอื่น ๆ |
phase 1 |
ค่าวิชาชีพ 5,000 + ค่า board 5,000 |
|||
phase 2 |
– |
ปรับครั้งที่ 1 |
ปรับครั้งที่ 1 |
ปรับครั้งที่ 1 |
phase 3 |
ค่าวิชาชีพเป็น 7,500 + ค่า board เป็น 7,500 |
|||
phase 4 |
– |
ปรับครั้งที่ 2 |
ปรับครั้งที่ 2 |
ปรับครั้งที่ 2 |
phase 5 |
ค่าวิชาชีพเป็น 10,000 + ค่า board เป็น 10,000 |
การปรับขึ้นค่าตอบแทนดังกล่าวหากผ่านความเห็นชอบ จะจัดทำเป็นงบผูกพันธ์ มีผลเป็นระยะต่าง ๆ ข้างต้น ซึ่งข่าวที่ออกมาล่าสุดได้มีการปรับเปลี่ยนเหลือ 3 phase และอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองของคณะรัฐมนตรี
ชมรมแพทย์เพื่อวิชาชีพแพทย์จึงขอประชาสัมพันธ์ให้เพื่อนแพทย์ตลอดจนบุคลากรสาธารณสุขสาขาอื่น ๆ ทราบเพื่อจะได้มีกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ และขอขอบคุณรัฐบาลมาล่วงหน้า ณ โอกาสนี้
งานประชาสัมพันธ์ ชมรมแพทย์เพื่อวิชาชีพแพทย์
๒๐ กรกฎาคม ๒๕๔๗